สพป.ขอนแก่น เขต 2 จัดอบรม “การพัฒนาเสริมสร้างวินัยและการวางแผนทางการเงิน” ติดอาวุธทางปัญญา เสริมสร้างวินัยทางการเงิน

(21 มิถุนายน 2567) นายอภิชัย เสนาโยธี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 2 (ผอ.สพป.ขอนแก่น เขต 2) เป็นประธานเปิดการอบรม “การพัฒนาเสริมสร้างวินัยและการวางแผนทางการเงิน” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นายทินกร ชาทอง รอง ผอ.สพป.ขอนแก่น เขต 2 คณะผู้จัดงาน ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ อาจารย์คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (NIDA) วิทยากร คณะผู้แทนจากธนาคารออมสิน ผู้เข้าร่วมการอบร ประกอบด้วย ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่มีอายุราชการไม่เกิน 5 ปีจำนวน 200 คน และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กลุ่มอายุราชการ 58-60 ปี จำนวน 100 คน เข้าร่วมในพิธีเปิด ณ ห้องประชุมศูนย์เรียนรู้ตลอดชีวิต สพป.ขอนแก่น เขต 2

นายอภิชัย เสนาโยธี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการแก้ไขบัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา และได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลังและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดแนวทางการแก้ไขบัญหาดังกล่าว ประกอบกับการประชุมคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา ได้มีมติให้กระทรวงศึกษาธิการ เร่งดำเนินการขับเคลื่อนแผนการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวบรรลุวัตถุประสงค์ สพป.ขอนแก่น เขต 2 ซึ่งเป็นหน่วยเบิกจ่ายเงินเดือนและเงินอื่น ๆ ให้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด มีหน้าที่ในการหักเงินเดือนและเงินอื่น ๆ เพื่อชำระหนี้สถาบันการเงินต่าง ๆ นอกจากนี้ สพป.ขอนแก่น เขต 2 ได้รับมอบหมายให้เป็นสถานีแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือสถานีแก้หนี้ครู ได้เล็งเห็นปัญหา และสาเหตุของการเป็นหนี้เงินกู้เกินศักยภาพของเงินเดือน ว่าเกิดจากข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ขาดความรู้ด้านการเสริมสร้างวินัยและการวางแผนทางการเงินและการออม สพป.ขอนแก่น เขต 2 จึงได้ดำเนินการจัด “การอบรมการพัฒนาเสริมสร้างวินัยและการวางแผนทางการเงิน” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสังกัดได้มีความรู้และเข้าใจในการบริหารการเงินของตนเอง เพื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสังกัด ได้จัดทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย เพื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถบริหารจัดการหนี้สินอย่างชาญฉลาดและปรับปรุงโครงสร้างหนี้และการแก้ไขหนี้สินของตนเอง เพื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถจัดเก็บออมเงินที่เหลือได้เหมาะสมกับตัวเอง และเลือกการลงทุนเพื่อเพิ่มรายได้แก่ครอบครัว และเพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถเก็บรักษาเงินเพื่อสร้างความมั่นคงแก่ครอบครัว พร้อมรู้เท่าทันกลโกง มิจฉาชีพ และภัยทางการเงินในรูปแบบต่าง ๆ

ด้าน นายทินกร ชาทอง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้เข้ารับการอบรมในวันนี้ ประกอบด้วย ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่มีอายุราชการไม่เกิน 5 ปีจำนวน 200 คน และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กลุ่มอายุราชการ 58-60 ปี จำนวน 100 คน ได้รับอนุเคราะห์จากธนาคารออมสินในการจัดหาวิทยากรที่ทรงคุณวุฒิระดับประเทศ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ อาจารย์คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (NIDA) มาเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง การบริหารการเงินอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการหนี้สินการประยุกต์ใช้หลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงในการจัดการเงินและภัยทางการเงิน กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เร่งดำเนินการขับเคลื่อนแผนการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวบรรลุวัตถุประสงค์

ซึ่งการจะทำให้ภารกิจดังกล่าวนี้ ดำเนินไปพร้อมกับการพัฒนางานด้านการศึกษาให้บรรลุผลสำเร็จได้นั้น ต้องสร้างความเข้มแข็งให้แก่บุคลากรและหน่วยปฏิบัติ ทั้งในส่วนกลางและในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการนำทิศทางและแนวนโยบายด้านการศึกษา ไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ ให้บรรลุผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการส่งเสริม สนับสนุนการขับเคลื่อนแผนงาน โครงการ และกิจกรรมสำคัญร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพของการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต ซึ่งการให้ความรู้ สู่การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นเป้าหมายหลักในการทำงานของคณะทำงานนี้ เพราะหากครูมีความทุกข์กับเรื่องหนี้สินก็คงไม่มีความสุขที่จะมาทำงานในด้านการศึกษา ไม่มีกำลังใจในการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนของเราเป็นคนดีคนเก่งนั่นเอง