(22 กรกฎาคม 2568) นายอภิชัย เสนาโยธี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 2 (ผอ.สพป.ขอนแก่น เขต 2) มอบหมายให้ นายทินกร ชาทอง รอง ผอ.สพป.ขอนแก่น เขต 2 พร้อมด้วยคณะศึกษานิเทศก์ประจำอำเภอมัญจาคีรี ลงพื้นที่เพื่อร่วมนิเทศ ติดตาม การเตรียมความพร้อมและให้กำลังใจโรงเรียนในการเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ในพื้นที่อำเภอมัญจาคีรี จำนวนทั้งสิ้น 11 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านหนองบัวเย็น โรงเรียนเหล่าใหญ่วิทยา โรงเรียนบ้านกอกป่าผุวิทยา โรงเรียนบ้านวังแคน โรงเรียนบ้านหนองแปน โรงเรียนบ้านนาข่า โรงเรียนบ้านคำปากดาว โรงเรียนโพนเพ็กพัฒนวิทยา โรงเรียนหนองหญ้าปล้องวิทยา โรงเรียนบ้านท่าศาลาประชารังสรรค์และโรงเรียนโนนคูณประชาสรรค์ ระหว่างวันที่ 14 – 24 กรกฎาคม 2568
นายทินกร กล่าวว่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 2 ได้ดำเนินการจัดทำโครงการ พัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาตามมาตรฐานการประกันคุณภาพภายใน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อเป็นการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาและการเตรียมความพร้อมรับการ ประเมินคุณภาพภายนอกจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) อาศัยอำนาจตามกฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561 (ข้อ 3) ให้สถานศึกษาแต่ละแห่งจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาโดยการกำหนด มาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาแต่ละระดับและประเภทการศึกษาที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศึกษาธิการกำหนด พร้อมทั้งจัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษาที่ มุ่ง คุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาและดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้จัดให้มีการประเมินผลและตรวจสอบ คุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา ติดตามผลการดำเนินการเพื่อพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพตาม มาตรฐานการศึกษาและจัดส่งรายงานผลการประเมินตนเองให้แก่หน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยงานที่กำกับ ดูแลสถานศึกษาเป็นประจำทุกปี เพื่อให้การดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษาตามวรรคหนึ่ง เป็นไป อย่างมีประสิทธิภาพให้หน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลสถานศึกษามีหน้าที่ในการให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ และแนะนำสถานศึกษาเพื่อให้การประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ และที่ผ่านมาพบว่าทั้งโรงเรียนได้เตรียมการเพื่อรับการประเมิน โดยได้ดำเนินการตามมาตรฐานการศึกษาและตามกรอบแนวทางการประเมินของ สมศ. คือ มาตรฐานคุณภาพผู้เรียน มาตรฐานกระบวนการบริหารและการจัดการ และ มาตรฐาน กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จัดการศึกษาตามมาตรฐานที่กำหนด ทั้งนี้ คณะกรรมการผู้ประเมิน ได้เสนอแนะแนวทางกระบวนการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้บริหารสถานศึกษานำข้อมูลไปพัฒนาการศึกษา อีกทั้งจะเป็นกระบวนการและกลไกในการตรวจสอบประเมิน เรียนรู้ และปรับปรุงระบบการบริหารคุณภาพการศึกษาที่สถานศึกษากําหนดขึ้น เพื่อทําให้ผู้เกี่ยวข้องตามหลักสูตร และสถานศึกษาเกิดการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อขยายผลไปสู่การปฏิรูปการศึกษาของประเทศในวงกว้างต่อไป
สำหรับระบบการประกันคุณภาพภายนอก คือการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษา ติดตาม ตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานของสถานศึกษาโดยเป็นบทบาทหน้าที่ของสำนักรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ทำหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบ และให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทำให้สถานศึกษามีความเข้มแข็งและสร้างความเชื่อมั่นต่อสังคม
นโยบายการประเมินคุณภาพภายนอกรอบใหม่ หลักการและรูปแบบการประเมินคุณภาพรอบใหม่ ประกอบด้วยการประเมินโดยอาศัยความเชี่ยวชาญ (Expert judgment) การประเมินแบบองค์รวม (Holistic Assessment) และการประเมินเชิงประจักษ์ (Evidence based assessment)
โดยการประเมินรอบใหม่เป็นการประเมินเชิงพัฒนาที่มีผู้เชี่ยวชาญไปให้คำแนะนำช่วยเหลือ ไม่ใช่การประเมินเพื่อตัดสินว่าใครได้ระดับใด ผ่านหรือไม่ เป็นการประเมินที่ไม่มีการรับรองคุณภาพของสถานศึกษา
องค์ประกอบของผู้ประเมินประกอบด้วย ตัวแทน 3 ส่วน คือ
1. ผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและการประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)
2. ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต้นสังกัด
3. ผู้บริหารสถานศึกษาที่เป็นอิสระจากการตรวจ โดยการประเมินรอบใหม่จะให้ความสำคัญกับมาตรฐานผู้ประเมินที่เน้นทักษะ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญ
ประโยชน์จากการประกันคุณภาพการศึกษา
1. สร้างความเชื่อมั่นด้านมาตรฐานการศึกษาให้กับผู้ใช้บริการสถานศึกษาและผู้ปกครอง
2. สร้างความเป็นมืออาชีพ การทำงานอย่างเป็นระบบ มีความโปร่งใส เน้นคุณภาพ ตรวจสอบได้ ให้กับครูได้พัฒนาตนเองและผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง
3. ผู้บริหารได้ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มประสิทธิภาพในการทำงานอย่างมีระบบ โปร่งใจ เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา
4. สร้างมาตรฐานให้กรรมการสถานศึกษาได้ทำงานตามบทบาทหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม มีส่วนพัฒนาสถานศึกษาและคุณภาพทางการศึกษาแก่ผู้เรียนร่วมกับผู้บริหาร และครูผู้สอน
5. ได้สถานศึกษาที่มีคุณภาพเพื่อพัฒนาเยาวชนที่มีศักยภาพในการพัฒนาตนเอง องค์กร ชุมชน และประเทศต่อไป (ที่มาข้อมูล https://uniquest.msu.ac.th/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3…/)








